ข่าวกิจกรรม

งานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์

เก็บตกภาพบรรยากาศกิจกรรม งานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พี่น้องชาวไทยรามัญ ร่วมทำบุญกันอย่างเนืองแน่นตั้งแต่เช้าตรู่ ด้านเทศบาลวังกะเชิญชวนนักท่องเที่ยว-ประชาชนร่วมชมความงามของประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง
.
บรรยากาศที่วัดวังวิเวก์การามเป็นไปอย่างคึกคัก มีพี่น้องชาวไทยมอญ นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติจำนวนมาก เดินทางมาร่วมทำบุญในงานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ที่อำเภอสังขละบุรีร่วมกับเทศบาลตำบลวังกะ วัดวังก์วิเวการามและพี่น้องชาวไทยรามัญในพื้นที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่าและบนบก ตลอดจนเป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิมของพื้นที่ให้แก่ชุมชน คนรุ่นหลังและนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2566
.
นางสาวอรัญญา เจริญหงส์ษา รองนายกเทศมนตรีตำบลวังกะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน ซึ่งถือเป็นวันที่มีไฮไลต์สำคัญของประเพณี โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา พี่น้องจากทุกหมู่บ้านและทุกตำบลต่างทยอยขนอาหารและเครื่องสะเดาะเคราะห์มาวางไว้บนเรือไม้ไผ่ ก่อนที่จะมารวมตัวกันที่ศาลาวัดเพื่อทำบุญรับศีลรับพร จากนั้นในช่วงบ่ายจะมีพิธีตักบาตรดอกไม้ น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายและน้ำมันงา ส่วนในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดสะเดาะเคราะห์และสวดเจริญพระพุทธมนต์ 108 จบ ก่อนจะนำธูปเทียนสะเดาะเคราะห์มาเผาบริเวณลานหน้าเจดีย์พุทธคยา ขณะที่กิจกรรมสุดท้ายจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ คือชาวบ้านจะช่วยกันลากเรือไปปล่อยกลางน้ำบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ หรือ “สามประสบ” ถือเป็นการจบประเพณีอย่างสวยงาม
.
“อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสังขละบุรีในช่วง 1-2 วันนี้ เพื่อมาชมความงามของประเพณีของชาวไทยมอญที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง มาชมความศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในพื้นที่ โดยก่อนถึงวันงาน พี่น้องจะมาร่วมกันเตรียมทำธง ร่ม และจัดเครื่องบูชาเรือต่างๆ เพื่อถวายวัด โดยมีการแบ่งงานให้หัวหน้าคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้าน รับไปให้ลูกบ้านช่วยกันทำแล้วนำมาส่งที่วัด ขณะที่ผู้ชายส่วนหนึ่งจะมารวมกันเพื่อสร้างเรือจากไม้ไผ่ จากนั้นชาวบ้านจะทยอยนำธงหลากสี ตุง ร่มกระดาษมาประดับตกแต่งเรือและบริเวณปะรำพิธีอย่างเนืองแน่น พร้อมนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าวสุก ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ ก่อนจะจุดเทียนอธิษฐานให้สิ่งไม่ดีและเคราะห์ร้ายต่างๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน จึงอยากให้ทุกคนได้มาร่วมสร้างบุญร่วมกัน”นางสาวอรัญญา กล่าว
.
สำหรับประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ชาวไทยรามัญอำเภอสังขละบุรี จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีประวัติความเป็นมาว่า เกิดขึ้นเมื่อสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมือง มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดมลทินด่างพร้อย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาในเมืองมอญใหม่ จึงรับสั่งให้พระภิกษุสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาทั้งหมด แล้วทรงส่งคณะปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกและทรงความรู้ตั้งมั่นในศีล ให้ออกเดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ เสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญ
.
เมื่อคณะปะขาวเดินทางถึงประเทศศรีลังกา จึงได้รับการอุปสมบทเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นจึงได้เดินทางกลับเมืองหงสาวดีโดยเรือสำเภา ในระหว่างที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุที่รุนแรงพัดจนหลงทิศไป จึงมีเพียงเรือสำเภาลำเดียวเท่านั้นที่เดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย เมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่าที่ดูแลพื้นดิน พื้นน้ำและอากาศได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้นได้เดินทางกลับมายังกรุงหงสาวดีอย่างปลอดภัย หลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพียงไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศนั้นก็เดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนี้
ข้อมูลสวท.สังขละบุรี